Ford RMA

หล่อ เท่ ไม่โดนจับ เคล็ดลับการแต่งรถถูกกฎหมาย ผ่านฉลุยทุกด่านตรวจ

หล่อ เท่ ไม่โดนจับ เคล็ดลับการแต่งรถถูกกฎหมาย ผ่านฉลุยทุกด่านตรวจ

หล่อ เท่ ไม่โดนจับ เคล็ดลับการแต่งรถถูกกฎหมาย ผ่านฉลุยทุกด่านตรวจ

“ไอ้หนุ่มทรงเช้ง มันเซ็งจนท้อ รักสาวทรงซ้อ แม่น้องออนิว” ถ้าพูดถึงการแต่งรถ คิดว่าหลายๆ คนคงมีเพลงนี้วิ่งเข้ามาในหัวอย่างแน่นอน แต่อาจคิดไม่ถึงว่าบาการแต่งรถบางครั้งก็แอบผิดกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นคงถูกปรับไม่ใช่น้อย แปลกอยู่ที่ทำไมหลายคนกลับผ่านฉลุยทุกด่านตรวจ อาจเป็นเพราะแต่งรถถูกกฎหมาย แต่เอ๊ะ!! การแต่งรถมีกฎหมายควบคุมด้วยหรอ ตอบเลยค่ะ ว่ามีแน่นอน 100% ซึ่งเรามีเคล็ดลับในการแต่งรถถูกกฎหมายมาฝาก แต่งอย่าไรให้ไม่โดนจับหรือปรับ ไปติดตามกันเลยค่ะ 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งรถ 

ก่อนอื่น อยากให้ทุกคนได้ลองเปิดใจศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งรถเสียก่อน เพื่อป้องกันการเสียทรัพย์โดยไม่ใช่เหตุ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันตนเองในการไม่กระทำผิดต่อกฎหมาย กฎหมายสำหรับการแต่งรถไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมาก เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสักเล็กน้อย เมื่อความผิดทางกฎหมายอยู่ในมือ นั่นหมายความว่าเราเป็นผู้กระทำผิด ต้องมีการชดใช้ต่อระเบียบข้อบังคับ อาทิ ปรับ จำคุก ใบเตือน ใบสั่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามการแต่งรถไม่ผิดกฎหมายไปเสียหมดทุกคันนะคะ

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม:

มาตรา 12: ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

มาตรา 13: รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงสีรถ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 7 วัน

มาตรา 60: กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 12 และมาตรา 13 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

สรุปได้ว่าการเปลี่ยนสีรถ ต้องแจ้งกรมการขนส่งทางบก เมื่อมีการเปลี่ยนสีรถทั้งคัน หรือเปลี่ยนสีส่วนใดส่วนหนึ่งเกินกว่า 30% ของพื้นที่ตัวถัง และเมื่อมีการการดัดแปลงสภาพรถ อาทิ การตัดต่อตัวถัง, การเปลี่ยนแปลงระบบขับเคลื่อน, การถอดเบาะโดยสาร หรือมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ถอดอุปกรณ์เสริมที่ติดตั้งมาจากโรงงาน หรือดัดแปลงสภาพรถที่มีผลต่อความปลอดภัย หรือไม่เป็นไปตามที่ข้อกฎหมายกฎหมาย จำเป็นต้องขออนุญาตนายทะเบียนก่อน

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม: เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ผู้ใช้รถทุกคนควรศึกษาไว้ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เน้นในเรื่องการใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นทั้งในท้องถนนและคนเดินเท้า เพื่อรักษาความปลอดภัยทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินจากทุกฝ่าย ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

สภาพรถควรมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

ควรติดแผ่นป้ายทะเบียนที่มาจากกรมการขนส่งทางบก หากไม่ติดป้ายต้องโทษระวางปรับไม่เกิน 1,000 บาท 

ห้ามแข่งรถบนท้องถนนเพื่อความสนุก เว้นแต่ได้รับการอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานจราจร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนปรับไม่เกิน 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลอาจสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวหรือเพิกถอน 

ห้ามใช้ไฟที่มีแสงจ้าหรือไฟกระพริบที่อาจรบกวนสายตาผู้ร่วมทาง โดยกฎหมายได้ระบุว่าสี สีของไฟหน้าควรเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ไฟท้ายสีแดง และไฟเลี้ยวเป็นสีเหลืองอำพัน 

รถแต่งซิ่งโหลดต่ำได้ไหม?

ปัจจุบันโหลดเตี้ยกำลังเป็นที่นิยมในวงการแต่งรถ ซึ่งกฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รถยนต์จะต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร โดยยึดหลักจากการวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้า และไฟตัดหมอกต้องไม่ต่ำกว่า 25 เซนติเมตร แต่ในทางกลับกันหากนำรถไปยกสูง ก็ควรยกสูงจากพื้นถนนไม่เกิน 135 เซนติเมตร โดยวัดระยะจากไฟหน้าเหมือนเดิม หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพมากจนเกินไป อาทิ ล้อเกินออกมานอกตัวถัง ยกรถให้สูงเป็นโฟวิล ควรมีวิศวะรับรองการดัดแปลงสภาพ และแจ้งกรมการขนส่งทางบกทุกครั้งก่อนใช้งาน  

ล้อใหญ่ ซุ้มล้อกว้าง ทำได้ไหม?

การใส่ยางหรือแต่งล้อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นล้อขนาด 18 ไปจนถึง 22 นิ้ว ย่อมไม่ผิดต่อข้อกฎหมาย แต่ล้อยางต้องไม่เลยออกมานอกบังโคลนมาก หรือแม้แต่ขยายซุ้มล้อ เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพรถ ก็ควรมีผู้รับรองและแจ้งให้นายทะเบียนทราบเสียก่อน รถยังไงไม่ให้ผิดกฎหมายง่ายนิดเดียว 

รถอีกสี กระโปรงหน้าอีกสี ผิดกฎหมายไหม?

เราอาจเคยเห็นผ่านตา เทรนแต่งรถให้สีกระโปรงต่างไปจากตัวถังก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะทำสีด้วยวิธีใด เช่น ติดสติ๊กเกอร์ ติดเครฟร่า ติดไฟเบอร์ สามารถทำได้แต่ไม่ควรเกินกึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนไว้ในเล่มรถ ควรนำรถเข้าไปแจ้งกับนายทะเบียนว่าตัวถังมีทั้งหมดกี่สี หากเล่มรถกับตัวถังมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน อาจมีความผิดตามมาตรา 13  และ 60  ต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 7 วัน 

ท่อดังบรึ้นๆ จะโดนจับหรือเปล่า?

การเปลี่ยนอะไหล่รถที่มาจากโรงงาน โดยเฉพาะท่อไอเสีย ซึ่งช่วยเพิ่มอรรถรสในการซิ่งให้สนุกมากยิ่งขึ้น ยิ่งขนาดท่อใหญ่ก็ยิ่งเสียงดัง หรือจะเพิ่มจำนวนท่อมากเท่าไหร่ ก็ยังไม่ผิดต่อข้อกฎหมาย เพียงแต่ว่าตำแหน่งจะต้องอยู่ในช่วงท้ายรถเท่านั้น แต่ขนาดและจำนวนจะต้องไม่ใหญ่หรือมีจำนวนมากจนเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้เป็นการรบกวนต่อผู้ใช้ถนนร่วมกัน และที่สำคัญระดับเสียงต้องไม่เกินกว่า 100 เดซิเบล เคสนี้ต้องระวังไว้ ถ้าเสี่ยงท่อดังเกินไปโดนปรับแน่นอน ต้องโทษปรับอยู่ที่ 1,000 บาท

แต่งลำโพง เปิดเสียงดัง ระวังต้องโทษ!

มลพิษทางเสียงรบกวนเพื่อนร่วมทางกว่าที่คิด การเปิดเพลงเสียงดังในรถก่อให้เกิดความรำคาญต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรวมกัน ในทางกฎหมายอาจมองว่าเสียงเพลงดังส่งผลให้ผู้อื่นเสียสมาธิ การเปิดเพลงเสียงดังจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ จราจร พ.ศ 2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฉะนั้นการแต่งลำโพงจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การใช้เสียงเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้กฎหมาย เปิดแต่พอดี ไม่รบกวนผู้อื่น รับรองถูกกฎหมายแน่นอน 

ดัดแปลงครื่องยนต์ได้หรือไม่?

การแต่งรถไม่ผิดกฎหมาย แต่การดัดแปลงเครื่องยนต์ผิด ซึ่งการดัดแปลงรถที่ผิดไปจากการจดทะเบียนโดยไม่ได้รับการอนุญาต ถือว่าเป็นการดัดแปลงเครื่องยนต์ที่ผิดกฎหมาย เช่น การดัดแปลงระบบขับเคลื่อนของรถ การขยายซีซีให้เป็นเทอร์โบ เป็นต้น โดยทุกครั้งที่มีการดัดแปลงเครื่องยนต์ เจ้าของรถจำเป็นต้องนำเอกสารและคำรับรองทางวิศวกร ไปยื่นเรื่องต่อเจ้าทะเบียนเสียก่อน โดยการดัดแปลงเครื่องอาจมีความจุกจิกเล็กน้อยในเรื่องของเอกสาร เพราะต้องมีตั้งแต่ใบเสร็จอะไหล่ ใบรับรองวิศวกร และต้องตรวจสอบความปลอดภัยของรถเสียก่อน เนื่องจากการดัดแปลงรถอาจทำให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จึงทำให้ต้องมีการเก็บภาษีเพิ่ม

แต่งไฟสีอื่นผิดกฎหมายไหม ?

กฎหมายได้ระบุสีไฟไว้อย่างชัดเจน ไฟหน้าควรเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ไฟท้ายสีแดง และไฟเลี้ยวสีเหลืองอำพัน ซึ่งเราสามารถพบเห็นรถแต่งซิ่งตามท้องถนน ความนิยมแต่งสีไฟเป็นสีแฟชั่นกลับมามีกระแสอีกครั้งหนึ่ง บางคันมีไฟท้ายที่เป็นสีฟ้า ไฟหน้าสีม่วง การกระทำดังกล่าวมีความผิดทางกฎหมาย ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เพราะแสงไฟแฟชั่นส่งผลให้รถคันอื่นที่ตามมามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และไม่ควรแต่งรถด้วย ไฟนีออนใต้ท้องรถ หรือไฟกรอบทะเบียน นับว่าเป็นสิ่งต้องห้าม มีความผิดทางกฎหมายเช่นกัน 

การแต่งรถ คือ ความชอบส่วนบุคคล ควรเคารพต่อกฎหมาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตทั้งตัวเจ้าของรถและเพื่อนร่วมทาง และไม่ควรแข่งรถบนถนนที่ไม่ใช่สนามแข่งเด็ดขาด อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินและชีวิต ขอยืนยันว่าการแต่งรถไม่ผิดกฎหมาย หากแต่งรถอย่างพอดี ไม่รบกวนผู้อื่น และแจ้งนายทะเบียนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อกฎหมาย  ที่สำคัญควรศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายทางจราจร และมีน้ำใจในการขับขี่ทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็หล่อ เท่ ไม่โดนจับ ผ่านฉลุยทุกด่าน!


ขอบคุณข้อมูล : รู้ไว้เพื่อการใช้และตกแต่ง รถคันโปรดอย่างเคารพกฎหมาย, สำนักงำนคณะกรรมกำรกฤษฎีกำ พระรำชบัญญัติ จรำจ. https://www.dlt.go.th/th/car-registration/40

ลงทะเบียนรับส่วนลด

0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่ากลับสู่ร้านค้า
    Instagram